Highlight Activities : กิ้งกือถ้ำชนิดใหม่ของโลกจากประเทศไทย

กิ้งกือถ้ำชนิดใหม่ของโลกจากประเทศไทย

ระบบนิเวศเขาหินปูนที่มีความสลับซับซ้อนมีระบบนิเวศถ้ำเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ แต่ยังได้รับการศึกษาน้อยมาก โดยเฉพาะการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในถ้ำ การวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาความหลากลายของกิ้งกือถ้ำ ซึ่งเป็นสัตว์ที่สำคัญทำหน้าที่ย่อยสลายซากต่าง ๆ ที่อยู่ในถ้ำ กิ้งกือกลุ่มนี้ได้ปรับตัวให้เหมาะสมกับการอยู่ในถ้ำ ในประเทศไทยพบด้วยกัน 3 สกุล ได้แก่ Trachyjulus Glyphiulus และ Plusioglyphiulus จากการเก็บรวบรวมตัวอย่างจากทั่วประเทศ พบว่ากิ้งกือถ้ำจากวัดถ้ำขรม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะแตกต่างจากชนิดอื่นโดยมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่ากิ้งกือชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน และเมื่อยืนยันด้วยหลักฐานทาง DNA จึงพบว่าเป็นกิ้งกือถ้ำชนิดใหม่ ได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trachyjulus magnus Likhitrakarn et. al., 2020 โดย “magnus” เป็นภาษาละติน แปลว่า มีขนาดใหญ่

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่องชีวภูมิศาสตร์เขาหินปูนและถ้ำของภูมิภาคอินโดจีน ภายใต้การสนับสนุนของสํานักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โครการนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินการวิจัยโดย ผศ.ดร.เอกชัย จิรัฏฐิติกุล ภาควิชาชีววิทยา

ข้อมูลเพิ่มเติม: Likhitrakarn, N., Golovatch, S.I., Jeratthitikul, E., Srisonchai, R., Sutcharit, C., Panha, S. A remarkable new species of the millipede genus Trachyjulus Peters, 1864 (Diplopoda, Spirostreptida, Cambalopsidae) from Thailand, based both on morphological and molecular evidence (2020) ZooKeys, 2020 (925), pp. 55-72.

https://zookeys.pensoft.net/article/49953/