Highlight Activities 2021: Variation of the mangrove sediment microbiomes and their phenanthrene biodegradation rates during the dry and wet seasons
เนื่องจากดินตะกอนป่าชายเลนจัดเป็นแหล่งสะสมของฟีแนนทรีน งานวิจัยนี้จึงศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลต่ออัตราการย่อยฟีแนนทรีนที่ความเข้มสูง (1,200 มก./กก.) กลาง (600 มก./กก.) และต่ำ (150 มก./กก.) โดยกลุ่มจุลินทรีย์ในดินตะกอนป่าชายเลน งานวิจัยนี้เริ่มจากสร้างระบบจำลองขนาดเล็ก จากนั้นบ่งชี้แบคทีเรียย่อยฟีแนนทรีนโดยใช้เทคนิค high-throughput sequencing ในการวิเคราะห์ยีน 16S rRNA ร่วมกับการนับจำนวนยีน PAH-RHDα ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าอัตราการย่อยฟีแนนทรีนทุกความเข้มข้นโดยกลุ่มจุลินทรีย์ในดินตะกอนป่าชายเลนจากฤดูฝน (11.58 14.51 และ 8.94 มก./กก./วัน) สูงกว่าฤดูแล้ง (3.51 12.56 และ 5.91 มก./กก./วัน) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะดินตะกอนป่าชายเลนฤดูฝนมีสารอาหารสะสมจากการชะของน้ำฝนและมีความหลากหลายของแบคทีเรียย่อยฟีแนนทรีนมากกว่าดินตะกอนป่าชายเลนฤดูแล้ง อีกทั้งผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่ากลุ่มจุลินทรีย์ในดินตะกอนป่าชายเลนรวมกลุ่มกันตามฤดูกาลอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าแบคทีเรียย่อยฟีแนนทรีนแกรมลบ เช่น Anaerolineaceae Marinobacter และ Rhodobacteraceae จะมีบทบาทสำคัญในการย่อยฟีแนนทรีนทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝนแบคทีเรียย่อยฟีแนนทรีนสายพันธุ์เฉพาะที่พบเฉพาะในดินตะกอนแต่ละฤดูมีบทบาทในการย่อยฟีแนนทรีนเช่นกัน กล่าวคือ Halomonas และ Porticoccus มีศักยภาพในการย่อยฟีแนนทรีนในดินตะกอนป่าชายเลนฤดูแล้งและฤดูฝน ตามลำดับ องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้มีประโยชน์สำหรับการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมไมโครไบโอมเพื่อการบำบัดสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนน้ำมัน
ข้อมูลเพิ่มเติม
Tiralerdpanich, P., Nasaree, S., Pinyakong, O., Sonthiphand, P. (2021). Variation of the mangrove sediment microbiomes and their phenanthrene biodegradation rates during the dry and wet seasons. Environmental Pollution, 289, 117849.
ผลงานที่ตีพิมพ์มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หัวข้อย่อย 14.2: การบริหารจัดการ อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง