Highlight ActivitiesHighlight Activities 2021:RELATED SDGs : 2งานวิจัย

Highlight Activities: Rapid detection of Clostridium perfringens in food by loop-mediated isothermal amplification combined with a lateral flow biosensor

คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ดิน น้ำ ทางเดินอาหารของสัตว์และมนุษย์  หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องร่วง โดยอาการดังกล่าวจะเกิดใน 8-22 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร เช่น อาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบ อาหารที่ปรุงสุกพร้อมรับประทาน อาหารแห้ง สมุนไพร เครื่องเทศ ซอสเกรวี่ ที่ปนเปื้อนเชื้อดังกล่าวเข้าไป วิธีมาตรฐานในการตรวจหาเชื้อปนเปื้อนจากตัวอย่างอาหารคือการเพาะเชื้อร่วมกับการทดสอบทางชีวเคมี ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลานานกว่า 3 วันจึงจะทราบผล คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการพัฒนาชุดทดสอบตรวจการปนเปื้อนเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ในอาหารด้วยเทคนิค loop mediated isothermal amplification (LAMP) ซึ่งเป็นการวิธีเพิ่มขยายปริมาณสารพันธุกรรมภายใต้อุณหภูมิคงที่ร่วมกับเทคนิค lateral flow biosensor (LFB) เพื่อใช้ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของปฏิกิริยา LAMP ซึ่งพบว่ามีความไวและความจำเพาะสูง โดยทดสอบความสามารถในการตรวจหาเชื้อปริมาณตํ่าสุดที่ถูกปนเปื้อนในอาหารประเภทเนื้อแปรรูป น้ำพริก และซอสเกรวี่ ที่ผ่านการเพิ่มจำนวนเชื้อจากการบ่มเพาะในอาหารเหลว Fluid Thioglycollate เป็นเวลา 16 ชั่วโมง พบว่าสามารถตรวจหาเชื้อได้ในปริมาณ 1-10 CFU ต่อกรัมอาหาร ซึ่งมีความไวเทียบเท่ากับชุดตรวจสอบสำเร็จรูปแบบรวดเร็วทางการค้า นอกจากนี้ผลการทดสอบกับตัวอย่างอาหารจากตลาดในกรุงเทพและปริมณฑลจำนวน 95 ตัวอย่าง พบว่าชุดทดสอบนี้ให้ผลที่สอดคล้องกับผลการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานโดยการเพาะเชื้อ ดังนั้นชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นมานี้มีความรวดเร็ว ความจำเพาะและความไวสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจหาเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ที่ปนเปื้อนในตัวอย่างอาหารได้

ข้อมูลเพิ่มเติม Sridapan T, Tangkawsakul W, Janvilisri T, Kiatpathomchai W, Dangtip S, Ngamwongsatit N, Nacapricha D, Ounjai P, Chankhamhaengdecha S. Rapid detection of Clostridium perfringens in food by loop-mediated isothermal amplification combined with a lateral flow biosensor. Plos One 2021; 16(1): e0245144.

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7790239/

ผลงานที่ตีพิมพ์มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs เป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตร กรรมที่ยั่งยืน