Highlight Activities 2021: Arsenic speciation, the abundance of arsenite-oxidizing bacteria and microbial community structures in groundwater, surface water, and soil from a gold mine
งานวิจัยนี้วิเคราะห์จำนวนอาร์ซีไนต์ออกซิไดซิงแบคทีเรีย โครงสร้างกลุ่มจุลินทรีย์ในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และดินจากบริเวณเหมืองทองโดยใช้เทคนิค cloning-ddPCR ในการศึกษายีน aioA และเทคนิค high-throughput sequencing ในการศึกษายีน 16S rRNA รวมทั้งวิเคราะห์รูปแบบของสารหนูที่ปรากฏในแหล่งน้ำโดยใช้แบบจำลองทางอุทกธรณีเคมี PHREEQC ผลการศึกษายีน aioA แสดงให้เห็นว่าอาร์ซีไนต์ออกซิไดซิงแบคทีเรียที่พบในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และดิน คือ Alphaproteobacteria Betaproteobacteria และGammaproteobacteria อีกทั้งพบว่าน้ำใต้ดินจากบริเวณเหมืองมีอัตราส่วนของยีน aioA/16S rRNA สูงและมีสารหนูชนิด As5+ เป็นหลัก ผลการศึกษายีน aioA และการวิเคราะห์ชนิดของสารหนูบ่งชี้ว่าอาร์ซีไนต์ออกซิไดซิงแบคทีเรียมีบทบาทในการเปลี่ยนรูปสารหนูในน้ำใต้ดินที่ศึกษา ผลการวิเคราะห์เมตาจีโนมิกส์แสดงให้เห็นว่ากลุ่มจุลินทรีย์หลักที่พบในดินและน้ำผิวดิน คือ Proteobacteria Actinobacteria Bacteroidetes และ Chloroflexi ในขณะที่กลุ่มจุลินทรีย์หลักที่พบในน้ำใต้ดิน คือ Betaproteobacteria และ Alphaproteobacteria ปัจจัยทางธรณีวิทยาที่มีผลต่อโครงสร้างกลุ่มจุลินทรีย์ในน้ำใต้ดิน คือ สารหนู ระยะเวลากักน้ำ และอัตราการไหล ส่วนปัจจัยทางธรณีวิทยาที่มีผลต่อโครงสร้างกลุ่มจุลินทรีย์ในน้ำผิวดิน คือ ปริมาณอินทรีย์คาร์บอนทั้งหมด (total organic carbon, TOC) ศักยภาพการเกิดออกซิเดชัน รีดักชัน (oxidation-reduction potential, OPR) และปริมาณออกซิเจนละลาย (dissolved oxygen, DO) งานวิจัยนี้เติมเต็มองค์ความรู้ด้านโครงสร้างกลุ่มจุลินทรีย์ในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และดินบริเวณเหมืองทอง รวมทั้งข้อมูลด้านปริมาณและความหลากหลายของสายพันธุ์อาร์ซีไนต์ออกซิไดซิงแบคทีเรียซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวัฏจักรทางชีวธรณีเคมีของสารหนูในสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลเพิ่มเติม
Sonthiphand, P., Kraidech, S., Polart, S., Chotpantarat, S., Kusonmano, K., Uthaipaisanwong, P., Rangsiwutisak, C., Luepromchai, E. (2021). Arsenic speciation, the abundance of arsenite-oxidizing bacteria and microbial community structures in groundwater, surface water, and soil from a gold mine. Journal of Environmental Science and Health, Part A, 56, 769-785.
ผลงานที่ตีพิมพ์มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs เป้าหมายที่ 6: สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลให้มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน