ภาควิชาชีววิทยา (48 ปี คณะวิทยาศาสตร์)

จุดเริ่มต้นภาควิชาชีววิทยา จากโรงเรียนเตรียมแพทย์เชียงใหม่ สู่คณะวิทยาศาสตร์ โดย ผศ.วารุณี เลิศศิริ (2549)

ย้อนไปเมื่อประมาณ 48 ปีก่อน ดิฉันเพิ่งเรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มาเริ่มทำงานเป็นอาจารย์รุ่นแรกในสังกัดโรงเรียนเตรียมแพทย์เชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการ ในปีแรกเมื่อเปิดทำการ สาขาวิชาชีววิทยามีอาจารย์สองคน ได้แก่ ดิฉัน อ.วารุณี (บุษปวนิช) เลิศศิริ และ อ.ผดุง ว่องพยาบาล ทำการสอนวิชาชีววิทยาให้กับนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งที่เป็นนักศึกษาเตรียมแพทย์เชียงใหม่รุ่นแรกจำนวน 67 คน นักศึกษารุ่นนี้เป็นนักเรียนที่เรียนเก่งติดบอร์ด 1 ใน 50 ของกระทรวงศึกษาเกือบทั้งหมด โดยนักศึกษาเหล่านี้ หลายคน ในภายหลังได้กลับมาเป็นกำลังของคณะวิทยาศาสตร์ เช่น ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ศาสตราจารย์ดร.เรือน สมณะ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีด์ เป็นต้น ต่อมาเมื่อนักศึกษาขึ้นชั้นปีที่สอง ก็ได้บรรจุอาจารย์เพิ่ม ได้แก่ อ.วลัย (ประสาทกลพิทยา) กิติศรีวรพันธุ์ และ อ.วารี (ศรีสุวรรณธัช) ประสมสุข ทำการสอนวิชาพฤกษศาสตร์โดยในช่วงแรกนั้น คณะเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้น นายแพทย์ เชวง เดชะไกรศะยะ เป็นคณบดี ได้ให้ยืมตึกที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาฯ ให้ใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน ในสมัยนั้น อุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆ ก็ยังไม่พร้อมสรรพ พวกเราต้องไปยืมอุปกรณ์ เช่น โมเดล สไลด์ถาวร ต่าง ๆ จากจุฬาฯ มาใช้สอน ในตอนนั้น อาจารย์ทุกสาวิชาจะพักรวมกันในห้องพักรวม ใช้โต๊ะทำงานใหญ่เดียวกัน โดยผู้อำนวยการ คือท่านอาจารย์สตางค์ จะนั่งอยู่หัวโต๊ะและอาจารย์ทุกคนก็จะนั่งเรียงกันในโต๊ะเดียวกัน ท่านจะทักทายอาจารย์ผู้น้อยทุกคน ใครไปไหนมาไหนก็ต้องบอกกล่าวให้ท่านทราบ ท่านอาจารย์สตางค์ เป็นคนเก่ง มองการไกล มีเมตตา เห็นใจลูกน้อง อาจารย์จึงเป็นที่รักและเคารพของลูกน้องทั้งน้อยใหญ่ อาจารย์ยังอนุญาตให้พวกอาจารย์ออกไปสนอพิเศษข้างนอกได้ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และได้รายได้พิเศษ แต่ต้องบอกกล่าวชี้แจงรายละเอียดกันให้ชัดเจน

จากนั้นสักพักหนึ่ง พวกเราก็ย้ายบ้านกันไปอยู่สถานที่ใหม่ที่อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนอำนวยศิลป์ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตึกใหม่ที่ว่านี้ อาจารย์สตางค์ให้ทุกคนเลือกว่าห้องต่าง ๆ ของภาควิชาของตนจะทาสีอะไรดี ภาควิชาชีววิทยาของเรานั้นจึงมีห้องแล็บสีชมพูครีม มาถึงตอนนี้อาจารย์ทุกคนก็ยังนั่งรวมกัน ยกเว้นอาจารย์ที่ประจำห้องแล็บ และขณะนั้นอาจารย์สตางค์ท่านก็จะนั่งในห้องคณบดีของท่าน ภาควิชาชีววิทยามี ดร.กำแหง พลางกูร เป็นรักษาการหัวหน้าภาควิชา และรับอาจารย์เพิ่มมากขึ้น จากนั้นพวกเราก็ย้ายบ้านอีกครั้งมาอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์แห่งนี้ เราได้ตึกของภาควิชาเราเอง โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จิต วรมนตรีเป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก และเป็นจุดเริ่มต้นศักราชใหม่ของภาควิชาชีววิทยาจนถึงปัจจุบัน

กว่าจะมาเป็นภาควิชาชีววิทยาในปัจจุบัน โดย ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้

ภาควิชาชีววิทยาที่เห็นอยู่ในปัจจุบันพัฒนามาจากจุดเริ่มต้นคือภาควิชาชีววิทยา-พฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งต่อมาสถาปนาเป็นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีศาสตราจารย์ ดร.กำแหง พลางกูร เป็นหัวหน้าภาควิชา ผมเข้ามาเริ่มทำงานในภาควิชานี้ในกลางปี พ.ศ. 2512 โดยศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งในด้านการวิจัยและการสอน โดยในขณะนั้นคณาจารย์ในภาควิชามีหน้าที่สอนปฏิบัติการสัตววิทยา พฤกษศาสตร์ และกายวิภาคเปรียบเทียบ แต่ยังไม่มีงานวิจัยเลยทั้งที่มีพื้นที่มากมายในชั้น 3, 4, 5 ของตึกชีววิทยา (ตึก B) ผมจึงได้เริ่มงานวิจัยพันธุศาสตร์ของแมลงหวี่ในประเทศไทยที่ห้องปฏิบัติการชั้น 4 ตึก B โดยการสนับสนุนของอาจารย์สตางค์ในทุกด้านและได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์บางอย่างจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ (ชั้น 1 ตึก B) และหน่วยวิจัย MIT (ชั้น 6 ตึก B) รวมทั้งการสนับสนุนจากเพื่อนที่ทำงานวิจัยใน University of Texas, Austin อาจารย์สตางค์ยังได้ให้ผมมีส่วนร่วมอยู่บ้างในการก่อสร้างตึกชีววิทยาใหม่ (ตึก N) ประมาณ 3 ปีต่อมาคณะฯ ได้แต่งตั้งให้ Professor Sara E. Huggins รักษาการหัวหน้าภาควิชาฯ โดยให้ผมเป็นผู้ประสานงานและจัดการพัฒนาการเรียนการสนอวิชาชีววิทยาและวิชาพันธุศาสตร์กับการเจริญขึ้นมาใหม่ แทนวิชาสัตววิทยาและวิชาพฤกษศาสตร์เดิม การเรียนการสอนในวิชาใหม่ทั้ง 2 วิชาและงานวิจัยของผมเดินหน้าไปด้วยดี ก่อนที่ผมได้เดินทางไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวายในกลางปีพ.ศ. 2516 และกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาชีววิทยา-พฤกษศาสตร์ในระหว่างปี พ.ศ. 2518-2534

ประวัติภาควิชาชีววิทยา

ภาควิชาชีววิทยาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 เดิมมีชื่อว่า ภาควิชาชีววิทยา-พฤกษศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ภาควิชาพฤกษศาสตร์แยกออกไปต่างหาก จึงเป็นภาควิชาชีววิทยา ปัจจุบันภาควิชาชีววิทยามีบุคลากรทั้งสิ้น 55 คน ประกอบด้วย อาจารย์ 31 คน ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ 3 คน นักวิทยาศาสตร์ 5 คน เจ้าหน้าที่ธุรการและเจ้าหน้าที่ทั่วไป 8 คน ลูกจ้างประจำและชั่วคราว 8 คน ในจำนวนอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดมีวุฒิปริญญาเอก 26 คน ปริญญาโท 7 คน และปริญญาตรี 1 คน อาจารย์อยู่ระหว่างลาศึกษาต่อต่างประเทศ 1 คน และลาศึกษาในประเทศ 1 คน สำหรับตำแหน่งวิชาการเป็นศาสตราจารย์ 3 คน รองศาสตราจารย์ 6 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 7 คน และอาจารย์ 18 คน

ผลการดำเนินงานและพัฒนการของภาควิชา

ด้านการเรียนการสอน ปัจจุบันภาควิชาชีววิทยารับผิดชอบจัดการเรียนการสอน 4 หลักสูตร ดังนี้

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาชีววิทยา มีจำนวนนักศึกษา 167 คน
  2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มีจำนวนนักศึกษา 40 คน (จัดการเรียนการสอน ณ วิทยาเขตกาญจนบุรี)
  3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชีววิทยาสภาวะแวดล้อม (หลักสูตรนานาชาติ) มีจำนวนนักศึกษา 36 คน
  4. หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาชีววิทยา (หลักสูตรนานาชาติ) มีจำนวนนักศึกษา 35 คน

นอกจากนี้ภาควิชาชีววิทยายังรับผิดชอบจัดการเรียนการสนอวิชาชีววิทยาระดับชั้นปีที่ 1 ณ วิทยาเขตศาลายาแก่นักศึกษาคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจำนวนประมาณ 2,300 คน

หลักสูตรต่าง ๆ ของภาควิชามีคณะกรรมการบริหารหลักสูตรรับผิดชอบการดำเนินการเรียนการสอนให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและของมหาวิทยาลัย โยมีการปรับปรุงหลักสูตรประมาณ ทุก ๆ 5 ปี ภาควิชาฯ มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีที่เข้าศึกษาในภาควิชา ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 โดยอาจารย์ที่ปรึกษาจะติดตามดูแลนักศึกษาจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ยังมีหลักสู฿ตรพิสิฐวิธานสำหรับนักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.25 ขึ้นไปให้มีโอกาสทำงานวิจัยที่เข้มข้น สามารถลงทะเบียนเรียนวิชาในระดับบัณฑิตศึกษาได้ และมีโอกาสศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ ได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกหากคงคะแนนเฉลี่ยสะสมอยู่ในเกณฑ์ ภาควิชามีห้องเรียนทั้งหมด 4 ห้อง ซึ่งมีอุปกรณ์โสตทัศนและเครื่องคอมพิวเตอร์ครบถ้วน มีห้องปฏิบัติการ 2 ห้อง สำหรับการเรียนการสนอ มีห้องพักนักศึกษาที่มีระบบ LAN เพื่อสนับสนุนการสืบค้นข้อมูลและการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ใน 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาดังนี้ (เฉพาะที่สอนที่พญาไท)

ปีการศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก
2548 44 4 8
2547 36 13 5
2546 68 19 5
2545 61 13 4
2544 26 12 1

การวิจัย

งานวิจัยในภาควิชาชีววิทยาสามารถจำแนกออกเป็นแขนงต่าง ๆ ได้ 7 แขนง คือ

  • พันธุศาสตร์และวิวัฒนาการ
  • นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์
  • ชีววิทยาระดับโมเลกุลและการเจริญ
  • ชีววิทยาของสัตว์น้ำและสังขวิทยา
  • กีฏวิทยา
  • ปรสิตวิทยา
  • วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา

อาจารย์ในภาควิชาได้รับเงินสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่

  • ทุนจาก National Institutes of Health (US)
  • สภาวิจัย
  • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น

ภาควิชาชีววิทยามีกลไกสนับสนุนการวิจัยภายในภาควิชา มีห้องปฏิบัติการสำหรับงานวิจัยแต่ละแขนง มีห้องเครื่อมือรวม ห้องคอมพิวเตอร์กลาง มีการจัดสรรเงินงบประมาณสนับสนุนการวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา และสนับสนุนให้อาจารย์และนักศึกษาในโครงการพิสิฐวิธานเดินทางไปเสนอผลงานวิชาการในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 123 เรื่อง

การบริการวิชาการ

การบริการวิชาการของภาควิชาชีววิทยามีหลายลักษณะ ได้แก่

  • การเป็นวิทยากรรับเชิญบรรยายในการประชุมวิชาการ หรือให้กับสถาบันต่าง ๆ
  • กรรมการประเมินโครงงานวิทยาศาสตร์
  • กรรมการประเมินผลงานวิชาการ
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย
  • อาจารย์พิเศษในหลักสูตรต่อเนื่อง
  • อาจารย์พิเศษในหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช
  • อาจารย์พิเศษในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

รางวัลและเกียรติคุณ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้

  • รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549
  • รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาพันธุศาสตร์ โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2533
  • เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ปีพ.ศ. 2538 และ 2542
  • โลเกียรติยศ สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ประจำปีพ.ศ. 2542
  • นักชีววิทยาอาวุโสเดีเด่น จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีพ.ศ. 2546

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุชาติ อุปถัมภ์ และศาสตราจารย์ ดร.วิฑูรย์ ไวยนันท์

  • รางวัลชมเชยในการประกวดผลงานวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้โมโนโคลนัลแอนติบอดี ในการวิเคราะห์แอนติเจนในเลือดเพื่อการวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ในตับในสัตว์เลี้ยง” ประจำปี พ.ศ. 2543

ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง